กปว. จับมือ อุทยานฯอีสาน 1 จัดยิ่งใหญ่ งานแข่งขันแผนธุรกิจระดับประเทศ ยกระดับผู้ประกอบการในภูมิภาค ผลักดันสู่ตลาดต่างประเทศ (R2G 2024)



15 มิ.ย. 2567

วันที่ 15 มิถุนายน 2567 กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จัดการแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจ แผนงานการส่งเสริมผู้ประกอบการภูมิภาคสู่ตลาดโลก (Regional to Global Platform : R2G) รอบระดับประเทศ ประจำปี 2567 ในพิธีเปิดได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน และดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 กล่าวต้อนรับ โดยมีคณะผู้บริหาร บุคลากร และผู้ประกอบการเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 16 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 (จ.ขอนแก่น)

ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “ตามวิสัยทัศน์กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการสานพลังการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและพร้อมก้าวสู่อนาคต ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมให้เข้มแข็งเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการ ทั้งพื้นที่ ‘นิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์’ การเชื่อมโยงกับสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา การสนับสนุนที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การบ่มเพาะผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพและความพร้อมในการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มสูง ต่อยอดสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้การจัดการแข่งขันครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาค กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สามารถพึ่งพาตนเองได้”

“สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินโครงการยกระดับความพร้อมของเทคโนโลยีและส่งเสริมระบบนิเวศสำหรับสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่ระดับแนวคิดจนกระทั่งพร้อมใช้งาน พร้อมทั้งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดโดยใช้ประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการสร้างธุรกิจใหม่และยกระดับธุรกิจในระดับภูมิภาค เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการปรับตัวของธุรกิจเมื่อประสบภาวะวิกฤติ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาค และการส่งเสริมผู้ประกอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคสู่ตลาดโลก อีกทั้งยัง มุ่งเน้นการสร้างและยกระดับผู้ประกอบการในภูมิภาคให้มีศักยภาพในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดโลก ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้กลไกการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค” ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทาง วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการ 5 ท่าน ดังนี้

1. ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

2. นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

3. คุณสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรม ศูนย์นวัตกรรมกลุ่มมิตรผล บริษัท มิตรผลวิจัยพัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด

4. คุณศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

5. นายไดสึเขะ นากาจิมะ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดองค์การสภาพัฒนาฮ่องกง

ซึ่งกิจกรรมการแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจ (Pitching) รอบระดับประเทศในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานการส่งเสริมผู้ประกอบการภูมิภาคสู่ตลาดโลก (Regional to Global Platform : R2G) ที่จะช่วยเชื่อมโยงผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคสู่ลูกค้าในระดับโลก ผ่านการส่งเสริมและยกระดับศักยภาพด้านการตลาด เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยเครือข่ายความร่วมมือของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยกิจกรรมนี้ เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการธุรกิจภูมิภาคในทุกกลุ่ม เช่น Startups SME และวิสาหกิจชุมชนโดยจะแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภท service/platform และ ประเภท product/goods ซึ่งมีการแข่งขันคัดเลือกผู้ประกอบการ ตั้งแต่ระดับภูมิภาค สู่การแข่งขันคัดเลือกระดับประเทศ มีผู้เข้าร่วมแข่งขันระดับประเทศทั้งหมด 20 ทีม คัดเลือกผู้ชนะเลิศ ประเภทละ 1 ทีม โดยผู้ชนะจะได้โอกาสในการขยายธุรกิจ พร้อมพบ Partner และเครือข่ายความร่วมมือที่สามารถผลักดันให้เกิดการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ ตลอดจนการติดตามและประเมินผลการเติบโตทางธุรกิจของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

 

*******************************

ข่าว : ณัฐกานต์ / ภาพ : นภดล

Share: