เกี่ยวกับเรา
อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้) พร้อมกรอบวงเงินงบประมาณดำเนินงาน โดยจัดสรรเป็นงบเงินอุดหนุนผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ซึ่งในส่วนของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ดำเนินการในลักษณะเครือข่ายร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ในระยะแรก ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานหรือสถานที่เพื่อให้บริการสนับสนุนและดำเนินกิจกรรมวิจัยและพัฒนา รวมถึงเป็นสถานที่สำหรับรองรับการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนโดยเฉพาะ ดังนั้น มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงอนุญาตให้สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการก่อสร้างอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น บนพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ณ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ขนาดพื้นที่ประมาณ 35 ไร่ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 458,888,880.- บาท ( สี่ร้อยห้าสิบแปดล้านแปดแสนแปดหมื่นแปดพันแปดร้อยบาทถ้วน) เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2558 แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 มีพื้นที่ใช้สอยรวมภายในอาคารประมาณ 18,000 ตารางเมตร
อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ในการให้บริการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการเพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคเอกชนในภูมิภาค โดยการนำทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานวิจัยและพัฒนาในภาครัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประกอบด้วย พื้นที่สำหรับให้บริการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการภาคเอกชน ทางการให้บริการห้องปฏิบัติการและเครื่องมือสำหรับการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์ออกแบบนวัตกรรม สำนักงานความร่วมมืออุตสาหกรรม ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องประชุม และสำนักงาน
วิสัยทัศน์
พัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ด้วยนวัตกรรม
เป้าหมาย
เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์ที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม มูลค่า 500 ล้านบาทต่อปี
พันกิจและนโยบาย
ตามประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฉบับที่ 1652/2564) เรื่อง กำหนดประเภทและสถานะ หน่วยงานวิสาหกิจของส่วนงานในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กำหนดให้อุทยานวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานวิสาหกิจของส่วนงานตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วย หน่วยงานวิสาหกิจของส่วนงาน พ.ศ. 2564 โดยการกำหนดให้มีวัตถุประสงค์หลักคือสนับสนุนยุทธศาสตร์หรือพันธกิจหลัก และสนับสนุน การพึ่งตนเองของส่วนงานและมหาวิทยาลัย สามารถพึ่งตนเองได้จากรายได้ที่เกิดจากศักยภาพของตนเอง มีระบบการบริหารจัดการที่คล่องตัว มีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักธรรมาภิบาล สนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านวิสาหกิจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมบนฐานองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
ส่งเสริมภาคเอกชนให้สามารถนำผลงานวิจัย เทคโนโนลยี หรือองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสังคมซึ่งมีผลต่อการพัฒนาภาคเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ
สนับสนุนเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิถาคและเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาคนอกทั้งในและต่างประเทศ
บริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ ม.ขอนแก่นให้มีความมั่งคงและมีเสถียรภาพด้านการเงิน โดยการสนับสนุน ส่งเสริม การพึ่งตนเองของหน่วยงาน โดยสามารถพึ่งตนเองได้จากรายได้ที่เกิดจากศักยภาพของหน่วยงาน ใช้หลักการบริหารองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาล ยึดหลักการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน
ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร
“ค่านิยม” และ “วัฒนธรรมองค์กร” ของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ SMART SP
S Social Devotion and Creativity อุทิศเพื่อชุมชน
M Management by Fact บริหารจัดการด้วยข้อมูลจริง
A Achieving Customer Excellence ตอบสนองสิ่งคาดหวัง
R Responsibility & Good governance รวมพลังรักษ์สิ่งแวดล้อม น้อมนำหลักธรรมาภิบาล
T สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology & Innovation focus)
S ทำให้คล่องตัว ง่าย สะดวก เข้าใจง่ายและชัดเจน (Simplify)
P สามารถปฏิบัติได้ เหมาะสม มีประโยชน์ ตามความเป็นจริง (Practical)
ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เกิดสังคมแห่งผู้ประกอบการบนพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม (Entrepreneur society base on SIT)
กลยุทธ์ที่ 1 การสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีธุรกิจฐานนวัตกรรมที่ใช้องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลยุทธ์ที่ 2 การเสริมและสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนและเอกชนในภูมิภาคโดยมุ่งเน้นการใช้องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเป็นศูนย์กลางระบบนิเวศนวัตกรรมของภูมิภาค (Open Innovation Ecosystem)
กลยุทธ์ที่ 1 การปรับปรุง พัฒนาพื้นที่รองรับระบบนิเวศนวัตกรรม
กลยุทธ์ที่ 2 การสร้างกลไก เชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาองค์กรเป็นศูนย์กลางความร่วมมือและการบูรณาการภาครัฐ สถาบันการศึกษา เอกชนและหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ (Integration and Cooperation)
กลยุทธ์ที่ 1 การส่งเสริมให้องค์กรเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในเชิงของการบูรณาการทุกภาคส่วน
กลยุทธ์ที่ 2 สร้างความสัมพันธ์อันดีในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ อันจะนำไปสู่การสร้างกิจกรรมความร่วมมือพัฒนางานวิจัยของเอกชน
กลยุทธ์ที่ 3 การพัฒนาความเข้มแข็งเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การยกระดับและพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการองค์กร ให้เป็นองค์กรสู่ความเป็นเลิศ สร้างความสุขและความมั่นคง (Sustainable organization)
กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนาระบบการบริหารจัดการทั้งองค์รวมขององค์กร
กลยุทธ์ที่ 2 จัดการบริหารสินทรัพย์และการหารายได้เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง