“Talent Mobility อีสาน ลงพื้นที่ติดตามผลโครงการ “การพัฒนาเฮมพ์กรีตของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอิฐมวลเบา โดยใช้หินฝุ่นบดย่อยเป็นมวลรวมทดแทนทรายละเอียด”



12 เม.ย. 2567

  เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย อุทยานวิทยาศาสตร์ ในฐานะศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินโครงการ “การพัฒนาเฮมพ์กรีตของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอิฐมวลเบา โดยใช้หินฝุ่นบดย่อยเป็นมวลรวมทดแทนทรายละเอียด” โดยมี ผศ.ดร.ประชุม คำพุฒ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (หัวหน้าโครงการ) พร้อมด้วยตัวแทนสถานประกอบการจาก บริษัท ดีดี เนเจอร์ คราฟท์ จำกัด และคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย  1) รศ.ดร.วีชาติ ตั้งจิรภัทร อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ 2) ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยความสะดวกฯ เข้าร่วมประเมินผลการดำเนินโครงการ ณ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คลองหก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

        “เฮมพ์กรีต” เป็นวัสดุก่อสร้างชีวภาพที่แกนเฮมพ์หรือแกนกัญชงเป็นส่วนผสม ซึ่งจากการดำเนินโครงการนี้คณะนักวิจัยได้พัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตเฮมพ์กรีตที่ใช้หินฝุ่นบดย่อยเป็นมวลรวมทดแทนทรายละเอียดด้วยวิธีการผสมแล้วเทลงในแบบหล่อ โดยมีส่วนผสมของปูนซีเมนต์ : ยิปซัมปลาสเตอร์ : หินฝุ่นบดย่อยผ่านตะแกรง : น้ำ : แกนกัญชงบดย่อยผ่านตะแกรงช่องเปิดขนาด 6 มม. และได้ทำการทดสอบสมบัติความต้านแรงอัดที่ 30.59 กก./ตร.ซม. ความหนาแน่นที่ 1173.33 กก./ลบ.ม. การดูดซึมน้ำร้อยละ 19.48 เทียบได้กับมาตรฐาน มอก.2601-2556 ประเภท C12 ผลการทดสอบการใช้งานจริงสามารถใช้งานก่อฉาบได้เหมือนกับอิฐมวลเบาทั่วไป ทั้งนี้ ผลการพัฒนาสูตรเฮมพ์กรีตอยู่ระหว่างการยื่นขอรับคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และดำเนินการยกร่างมาตรฐาน มอก. 3490-2565 เรื่องเฮมป์ครีตบล็อกต่อไป

         โครงการนี้ผ่านการคัดเลือกภายใต้โครงการการส่งเสริมบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility)  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาที่มีความรู้และความสามารถ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม

 

ภาพ,ข่าว : แผนกประสานงานความร่วมมืออุตสาหกรรม

Share: