“Talent Mobility อีสาน ลงพื้นที่ปิดโครงการ “การพัฒนาสูตรอาหารเป็ดไข่ด้วยเศษเหลือจากการแปรรูปปลาดุก ด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ บริษัท เอ็ม เอส พี อินเตอร์ฟฟู้ดส์ จำกัด



7 เม.ย. 2567

     มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย อุทยานวิทยาศาสตร์ ในฐานะศูนย์อำนวยความสะดวก (Talent Mobility Clearing House) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ประชุมติดตามเพื่อปิดโครงการ “การพัฒนาสูตรอาหารเป็ดไข่ด้วยเศษเหลือจากการแปรรูปปลาดุก ด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ บริษัท เอ็ม เอส พี อินเตอร์ฟฟู้ดส์ จำกัด” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปริเยศ สิทธิสรวง คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (หัวหน้าโครงการ) ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการติดตามโครงการ ดังนี้ 1) รองศาสตราจารย์ ดร.เยาวเรศ เชาวนพูนผล อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2) รองศาสตราจารย์ ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชเวง สารคล่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ประจำวิทยาเขตสกลนคร และ 4) ผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

     โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสูตรอาหารเป็ดไข่จากเศษเหลือจากการแปรรูปปลาดุก วิเคราะห์ผลิตภาพของกระบวนการผลิตไข่เป็ด รวมทั้งการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์จากกระบวนการผลิตไข่เป็ดและโอกาสทางการตลาด ซึ่งผู้ประกอบการบริษัท เอ็ม เอส พี อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านปศุสัตว์ เช่น สุกร ไก่เนื้อ โคเนื้อ ปลาดุก และเป็ดไข่ มีความต้องการที่จะลดปริมาณของเสียที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด และยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมกัน

       ทั้งนี้ คณะนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์อาหารหลักและอาหารเสริมของเป็ดไข่ โดยได้ทดลองใช้เศษเหลือจากการแปรรูปปลาดุกสำหรับการเลี้ยงเป็ดไข่ ผลิตอาหารเป็ด 4 สูตร มีการทดสอบประสิทธิภาพการใช้อาหาร การตรวจวิเคราะห์เลือดเป็ด ตรวจระดับไขมันในไข่แดงและค่าโภชนาการอาหาร เป็นต้น ผลของโครงการ ได้สูตรการใช้อาหารจากเศษเหลือปลาดุกที่เหมาะสมสำหรับเป็ดไข่ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ สร้างโอกาสทางการตลาดสำหรับกลุ่มรักสุขภาพที่นิยมบริโภคไข่ที่มีประโยชน์สูงต่อร่างกาย ซึ่งบริษัทฯ สามารถต่อยอดในการผลิตสูตรอาหารดังกล่าวเพื่อจำหน่ายในฟาร์มเป็ดอื่นๆ ได้ ต่อไป

    โครงการดังกล่าวผ่านการคัดเลือกภายใต้โครงการการส่งเสริมบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility)  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ดำเนินงานตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาที่มีความรู้และความสามารถในสังกัดที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยการเคลื่อนย้ายบุคลากรไปช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรม อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมให้เข้มแข็ง ต่อไป

 

ข่าว/ภาพ : ณัฐกานต์

Share: