ผู้จัดการนวัตกรรม อีสาน รุ่น 1 และ 3 ลงพื้นที่สกลนคร ‘ผนึกกำลังรัฐ-เอกชน-อุดมศึกษา’ หนุนนวัตกรรมพัฒนาเชิงพื้นที่



5 เม.ย. 2567

อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนโครงการเชิงพื้นที่ในภูมิภาค (Driving Regional Development) โดยต่อยอดจากแผนงาน “ผู้จัดการนวัตกรรม (Certified Innovation Manager : CIM)” ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจภูมิภาค (Regional Economy) โดยมี ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมที่ผ่านการอบรมผู้จัดการนวัตกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 3 ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมฯ เมื่อวันที่ 22 – 23 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดสกลนคร

กิจกรรมครั้งนี้ เริ่มต้นโดยผู้เข้าร่วมหลักสูตรผู้จัดการนวัตกรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 3 เยี่ยมชม Onson Thai hand crafted white spirit โดยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจร่วมกับคุณเสือ ธรรมวิทย์ ลิ้มเลิศเจริญวนิช ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้าจังหวัดสกลนคร (YEC) เจ้าของแบรนด์ ‘ออนซอน’ ในด้านวัตถุดิบที่มาจากชุมชน เทคโนโลยีในการผลิต และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนหารือแนวทางการเชื่อมโยงโดยใช้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายจากการสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อต่อยอดในการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้ของผู้จัดการนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

จากนั้น ผู้เข้าร่วมฯ ได้เข้าพบดร.กัลยารัตน์ จารุกรจินดารัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดสกลนคร และคณะ เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ณ ห้องประชุมหอการค้าจังหวัดสกลนคร และปิดท้ายการเยี่ยมชม ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (สวนป่าบ้านดิน) โดยมีคุณสิทธิศักดิ์ พุ้ยมอม รองประธานวิสาหกิจชุมชน Young Smart Farmer สกลนคร และประธานศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดสกลนคร ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชม ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรแบบผสมผสานเชิงเทคโนโลยีทั้งหมด 13 ไร่ ทั้งการปลูกผักบนโต๊ะแบบปูน การเลี้ยงปลานิลระบบปิด ในบ่อผ้าใบวงกลมด้วยเทคโนโลยีตะกอนชีวภาพ (Biofloc) และการใช้ชุดตรวจคุณภาพน้ำในการเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้วยเทคโนโลยี ADEQNIC IoT Platform ทำให้ได้ผลผลิต คือ ปลานิลสดที่มีคุณภาพ ต่อยอดสู่ปลานิลแดดเดียว แฮมเบอร์เกอร์ปลา ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีถ่ายทอดแก่เกษตรกรในชุมชนได้อีกด้วย

กิจกรรมดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการยกระดับความพร้อมของเทคโนโลยีและส่งเสริมระบบนิเวศสำหรับสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ (New Regional Tech-based Entrepreneurial Ecosystem Enhancement) จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการดำเนินงานของโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ผ่านความร่วมมือระหว่าง 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสถาบันอุดมศึกษา ให้สามารถแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาคได้อย่างแท้จริงและสร้างประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

ข่าว : ณัฐกานต์
*********************
#CIM #CertifiedInnovationManager #CIMNEAST1 #CIMNEAST3 #ผู้จัดการนวัตกรรม #ออนซอน #สวนป่าบ้านดิน #สกลนคร #DrivingRegionalDevelopment #KKUSP #NESP #RSP

 

Tags:
Share: