ผนึกกำลังเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 4 แห่ง ร่วมต้อนรับ รมว.อว. ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ ชมผลงานความสำเร็จภายใต้การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ ภูมิภาค และบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ



14 ธ.ค. 2566

ผนึกกำลังเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 4 แห่ง ร่วมต้อนรับ รมว.อว. ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ ชมผลงานความสำเร็จภายใต้การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ ภูมิภาค และบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 66 อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำโดย ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย รศ.ดร.เกียรติศักดิ์ ศรีประทีปผู้จัดการศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคามและเจ้าหน้าที่ ร่วมต้อนรับ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อม น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ รมว.กระทรวง อว. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดยมี ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวต้อนรับ รมว.อว.และคณะ พร้อมด้วยผู้บริหาร มช. และ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศให้การต้อนรับ

โดย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ นำเสนอภาพรวมกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ในช่วงปี 2556-2566 ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวง อว.ส่งผลให้เกิดการกระจายการเข้าถึงเพื่อนำงานวิจัยและเทคโนโลยีไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ

ทั้งนี้ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ทั้ง 4 ภูมิภาค นำเสนอผลการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรม ศักยภาพสูงในพื้นที่ ได้แก่

1) อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ และโครงสร้างพื้นฐานอาคารอำนวยการอุทยาน วิทยาศาสตร์ภูมิภาค (ภาคเหนือ) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ

2) อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

3) อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปภากร พิทยชวาล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

4) อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้

การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ ในครั้งนี้ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ได้ให้นโยบายว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ช่วยส่งเสริมการกระจายโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้กับประชาชน ในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ถือเป็นการกระจายโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. สู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมและสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่ภูมิภาคอย่างมหาศาล เกิดการจ้างงาน เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรม เกิดการพัฒนาของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่ด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมที่เติมเต็มอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีจุดเด่นในการการเชื่อมโยงอัตลักษณ์พื้นถิ่นซึ่งสามารถที่จะเชื่อมโยงกับนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลได้อย่างดี และมีการส่งเสริมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Corridor) ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูเศรษฐกิจภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและการค้าของประเทศ ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่บนฐานนวัตกรรม”

หลังจากนั้น รมว.อว.พร้อมคณะเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานความสำเร็จภายใต้การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ ภูมิภาค และบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Corridor) ทั้ง 4 ภูมิภาคที่นำมาจัดแสดง โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำผลงานผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการมาร่วมจัดแสดงจำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ Ortelra .เจลแต้มสิวจากสารสกัดบัวบกอินทรีย์โดย บริษัท บัวบก สมุนไพรไทย จำกัด 2. ผลิตภัณฑ์สมุนไพรบรรเทาอาการปวดเมื่อย AYA Natural spa gel โดย บริษัท เอย่า เนเชอรัล สปา เจล 3. Brother Jo’s ผลิตภัณฑ์ ไมโครเวฟ ป๊อปคอร์น โดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮาลาล ออลล์ 4. Hachii ผลิตภัณฑ์เอเนอร์จี้บาร์อัดแท่ง ตรา ฮาชิอิ มีลบาร์ (Hachii Meal Bar brand) โดย บริษัท ไบโอเพนนินซูล่า จำกัด และ 5. เครื่องดื่มเยลลี่น้ำมะพร้าวน้ำหอมโคโค่ดำเนิน โดย บริษัท โคโค่ ดำเนิน จำกัด ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ผลงานนั้น ได้รับการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมผ่านกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ในการเพิ่มประสิทธิภาพและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการพร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์สู่การส่งออกต่างประเทศ

ภาพ ,ข้อมูล : อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ

ข่าว : พรสุดา

Share: